วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

หมอลำอีสาน

หมอลำอีสาน
หมอลำ แบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภทคือ หมอลำผีฟ้า หมอลำพื้น หมอลำกลอน และหมอลำหมู่
หมอลำผีฟ้า หมายถึง หมอลำที่ติดต่อกับผีฟ้า ความมุ่งหมายของการร้องรำผีฟ้าก็เพื่อรักษาคนป่วย แล้วเชิญชวนคนป่วยให้ลุกขึ้นมาร่วมร้องรำทำเพลงกับคณะหมอลำ ถ้าคนป่วยอาการหนักอาจจะไม่ลุกก็ได้ ไม่ได้เจตนาลำเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ฟัง แต่มุ่งสร้างความบันเทิงให้แก่ คนป่วยเป็นสำคัญ
กลอนลำของหมอลำผีฟ้าและเพลงแคนเป็น "กลอนผญา" เหมือนกับกลอนเกี้ยวระหว่างหนุ่มสาว ร้องรำได้ก็ต่อเมื่อผีฟ้ามาเข้าสิง เฉพาะบทเชิญพญาแถนลงมาเยี่ยมคนป่วย ทำนองลำและทำนองแคน เรียกกันว่า "ลำทางยาว" คือ ลำแบบมีเสียงเอื้อนยาวสะอึกสะอื้นนั่นเอง ทำนองแคน ในทางปฏิบัติจะเป็น "ลาย"
หมอลำพื้น หมายถึง "หมอลำนิทาน" คือ หมอที่เล่านิทานด้วยการลำ (ขับร้อง) คำที่เก่าแก่พอๆ กันกับ "ลำพื้น" ก็คือ "เว้าพื้น" ซึ่งตรงกับว่า "เล่าเรื่อง" หมอลำพื้นจะเป็นหมอลำคนเดียว และมีหมอแคนเป่าคลอเสียงประสานไปด้วย
หมอลำกลอน คือหมอลำที่ลำโดยใช้กลอน ถ้าจะให้ใกล้เคียงกับความหมายก็น่าจะเป็น "หมอลำโต้กลอน" มากกว่า เพราะเป็นการลำแข่งขันโต้ตอบกันด้วยกลอนลำ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภทคือ หมอลำกั๊บแก๊บ หมอลำกลอน(ธรรมดา) และหมอลำชิงชู้
หมอลำกั๊บแก๊บ หรือหมอลำกรับ หมอลำ (คนเดียว) จะลำเป็นทำนองลำกลอน
หมอลำกลอน เป็นหมอลำคู่ ชาย-ชาย หรือชาย-หญิง ปัจจุบันจะมีเฉพาะคู่ชาย-หญิง เท่านั้น สมัยก่อนจะเน้นในทางแข่งวิชาความรู้กันเป็นหลัก ปัจจุบันนิยมการลำเกี้ยวกันเป็นการสนุกสนานเพลิดเพลิน ต้องใช้ศิลปะสูงยิ่งกว่าหมอลำประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งการฝึกฝนอบรม ความขยันหมั่นเพียร ตลอดจนคุณค่าของบทกลอน
ทำนองลำมีอยู่สองทำนองคือ ทำนองลำทางสั้น กับทำนองลำทางยาว ปัจจุบันมีทำนองลำเต้ยเพิ่มเข้าเป็นตอน ทำนองลำทางสั้นเนื้อเต็มไม่มีเอื้อนมีจังหวะสม่ำเสมอ ทำนองลำทางยาวหรือบางทีเรียกว่า ลำล่อง หรือลำอ่านหนังสือ เป็นทำนองลำแบบเอื้อนเสียงยาวสะอึกสะอื้นแสดงอารมณ์โศก ส่วนลำเต้ยเป็นการลำแบบเนื้อเต็ม มีจังหวะคึกคัก มีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์รักและอ่อนหวาน มักจะแสดงตลอดทั้งคืน ประมาณสามทุ่มจนถึงสว่างทำนองลำเต้ย หมายถึง เพลงสั้นๆ ที่ใช้ลำเกี้ยวกันและมีจังหวะคึกคักมีชีวิตชีวา ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ทำนองคือ เต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา และเต้ยหัวโนนตาล
หมอลำชิงชู้ เป็นหมอลำประเภทหนึ่งที่มีหมอลำฝ่ายชาย ๓ คน ฝ่ายหญิง ๑ คน เป็นการลำประชันแข่งขันระหว่างฝ่ายชายเพื่อเอาชนะใจฝ่ายหญิงสมมติฝ่ายชายทั้งสามให้เป็นข้าราชการ พ่อค้า และชาวนา บางทีเรียกหมอลำนี้ว่า หมอลำสามเกลอ หรือหมอลำสามสิงห์ชิงนาง
หมอลำหมู่ คือ หมอลำที่มีผู้แสดงหลายคน โดยแสดงเป็นเรื่องราวแสดงละคร หรือลิเก โดยนำเอานิทานพื้นเมืองมาทำบทใหม่ เช่น เรื่องนางแตงอ่อน ท้าวสีทน ขุนลู (บูลู) - นางอั้ว ผาแดง - นางไอ่ ท้าวการะเกด และท้าวก่ำกาดำ เป็นต้น แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ หมอลำหมู่ กับหมอลำเพลิน ลำหมู่ธรรมดามักจะเน้นเรื่องความจริงจัง ความเป็นอนุรักษ์นิยม มีทำนองโศก แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ส่วนลำเพลินจะเน้นความสนุกสนานเพลิดเพลินและความเป็นอิสรนิยมเป็นสำคัญ แต่งตัวแบบสมัยนิยม คือ นุ่งกระโปรงสั้น อวดรูปทรง

ไม่มีความคิดเห็น: