วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติการทำนาของคนอีสานในอดีต

ความหมาย หมอลำ

ความหมายของ “ หมอลำ ” ได้มีผู้ให้คำนิยามที่หลากหลายไว้ เช่น หมอลำ หมายถึง ผู้ชำนาญในการขับร้อง ผู้ชำนาญในการเล่านิทาน หรือผู้ที่ท่องจำเอากลอนมาขับร้องหรือลำ หรือ หมอลำ หมายถึง การขับลำนำด้วยภาษาถิ่นอีสานประกอบเสียงดนตรี ” แคน ” กล่าวโดยสรุป หมอลำ ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญในการขับลำนำหรือการขับร้อง โดยการท่องจำจากกลอนลำ หรือบทกลอนที่มีผู้ประพันธ์ขึ้นเป็นภาษาถิ่นอีสาน หรืออาจจะหมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมือง หรือมหรสพอย่างหนึ่งของชาวอีสาน
คำว่า “ ลำ ” ตามพจนานุกรมฯ จะหมายถึง เพลง หรือ บทกลอน ส่วนบางแห่งจะหมายถึง เพลงหรือทำนองขับ หรือจะหมายถึง การเปล่งเสียงขับร้องก็ได้ โดยมักใช้คู่กับ “ ขับลำ ” แต่ถ้าเป็น “ รำ ” จะหมายถึง การแสดงท่าเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะดนตรี ซึ่งทางอีสานมักจะเรียกว่า “ ฟ้อน ” ส่วน “ ลำนำ ” ก็คือ ทำนองที่เกิดจากการสัมผัสกันของบทกลอนที่ใช้ขับร้อง

กำเนิดหมอลำ
หมอลำกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่กล่าวกันว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว โดยมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความเจริญของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีการสันนิษฐานไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เกิดจากความเชื่อเรื่องผีฟ้า ผีแถน และผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า ผีเหล่านี้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เกิดภัยธรรมชาติและความเจ็บป่วยแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงทำพิธีกรรมรักษาผู้ป่วยตามวิธีการของหมอผี คือ การขับ ลำผีฟ้า ลำส่อง ลำทรง แล้วพัฒนาการลำเป็น “ ลำพื้น ” และ “ ลำกลอน ” ตามลำดับ
๒.เกิดจากธรรมเนียมการอ่านหนังสือผูก และการเทศน์ลำ หนังสือผูก คือ วรรณกรรมพื้นบ้านที่มีการจารลงในใบลาน เรื่องราวที่จารอาจเป็นชาดก หรือนิทานพื้นบ้านที่สนุกสนาน เช่น สังข์สินไซ กำพร้าผีน้อย ฯลฯ
สมัยก่อน ในภาคอีสานมักจะมีการอ่านวรรณกรรมพื้นบ้านในที่ประชุมเพลิง โดยเจ้าภาพจะหาหมอลำมาอ่านขับลำนำหนังสือให้ผู้มาร่วมงานได้ฟังคล้ายเป็นมหรสพ หรือแม้แต่ในงานสมโภชสตรี ที่เรียกว่า
“ งันหม้อกรรม ” คือ การอยู่ไฟหลังคลอด เมื่อมีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมหรือแสดงความยินดีก็มักมีการจับกลุ่มกันฟังนิทานจากหนังสือผูก ซึ่งความนิยมในการอ่านหรือฟังนี้เอง ที่ทำให้เกิดการคิดวิธีการอ่านให้น่าสนใจ หรือคิดการแสดงประกอบการเล่าเรื่อง แล้วต่อมาก็มีการใช้ “ แคน ” เป็นดนตรีประกอบ จนเกิดเป็นการแสดงที่เรียกว่า “ ลำพื้น ” ขึ้น
๓.เกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว เนื่องในโอกาสต่างๆกัน เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การเข็นฝ้าย หรือในงานนักขัตฤกษ์ โดยหนุ่มสาวได้มีโอกาสสนทนากันด้วยโวหารที่ไพเราะ และมีความหมายลึกซึ้ง ที่เรียกกันว่า ผูกผญาหรือจ่ายผญา (อ่านว่า ผะ – หยา หมายถึง คำคม สุภาษิตที่ชาวอีสานใช้สำหรับสั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติอยู่ในจารีตประเพณี หรืออาจหมายถึงคำพูดที่พูดให้คิด มักเป็นคำพูดที่คล้องจองกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสเสมอไป ส่วนการ จ่ายผญา คือ การตอบคำถาม ซึ่งมีผู้ถามแล้ว ก็ตอบไป เป็นการพูดธรรมดา ไม่มีการเอื้อนเสียง ไม่มีทำนอง แต่เป็นจังหวะ มีวรรคตอน ซึ่งฝ่ายชายมักลำเป็นคำถามและฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายตอบ หรือจ่ายผญา )

หมอลำแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
• หมอลำที่แสดงเพื่อความบันเทิง ได้แก่ หมอลำกลอน หมอลำเรื่อง และหมอลำเพลิน เป็นต้น ซึ่งแต่ละ
อย่างก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น หมอลำกลอน เป็นการโต้ตอบกลอนสด อาจจะเป็นชาย-ชาย หรือชาย-หญิงโต้ตอบกัน เนื้อหาจะเป็นเรื่องประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ นิทานพื้นบ้าน คติธรรม ใช้แคนเป็นดนตรีประกอบ ส่วน หมอลำเรื่อง จะเป็นการลำเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน หมอลำเพลิน จะเป็นกลอนลำที่มีทำนอง จังหวะเร็ว สนุกสนาน ไม่มีการเอื้อนเสียง ให้ความครึกครื้นเข้ากับลีลาการเต้น ทำนองได้รับอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล ลำเต้ย เป็นกลอนลำที่มีทำนองสั้น กระฉับกระเฉง ไม่เอื้อนเสียง ทำนองแสดงอารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน ส่วนใหญ่ใช้เกี้ยวพาราสี และเสนอสาระที่ต้องการเฉพาะเรื่อง ทำนองมีหลายทำนอง คือ เต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา และเต้ยโนนตาล
• หมอลำที่แสดงในพิธีกรรม ได้แก่ หมอลำผีฟ้า เป็นการลำที่มีจุดประสงค์ ๒ อย่างคือ รักษาคนป่วย หรือ พยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ทำนองลำจะเป็นจังหวะสั้นบ้าง ยาวบ้าง ดนตรีที่ใช้คือ แคน เนื้อหาของกลอนลำจะเป็นการกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ลำอัญเชิญมา ผู้ลำมีคนเดียว หรือมีบริวารเป็นผู้ฟ้อนรำประกอบลีลา การฟ้อนไม่มีแบบแผนแน่นอน
โดยทั่วไป หมอลำต้องเลือกทำนองการลำให้สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องด้วย เพื่อให้กลอนลำมีความกลมกลืน อันจะทำให้มีความไพเราะ ก่อให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์และอารมณ์คล้อยตามหมอลำไปด้วย และการลำของหมอลำแต่ละคน อาจจะมีสำเนียงการลำ หรือลีลา ที่เรียกว่า วาดลำ ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น วาดลำอุบล จะเป็นสำเนียงการลำที่ค่อนข้างช้า เนิบนาบ วาดลำขอนแก่น จะเป็นสำเนียงการลำที่ค่อนข้างกระชับ รวดเร็ว เป็นต้น (ที่มาwww.culture.go.th)

หมอลำเป็นศิลปะการแสดงของกลุ่มไทยลาว แบ่งออกตามวิวัฒนาการและลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างได้ 5 ประเภท คือ 1. หมอลำพื้น หรือหมอลำเรื่อง จะมีหมอลำผู้ชายคนเดียวลำเรื่องนิทานที่เป็นวรรณคดีพื้นบ้านอีสาน เช่น สินไซ กาละเกด นางแตงอ่อน ท้าวหมาหยุย โดยมีหมอแคนหนึ่งคนเป่าประสานเสียง ทำนองที่ใช้มี 3 ทำนอง คือ ทำนองลำทางสั้น ทำนองลำกึ่งทางสั้น-ทางยาว(ทำนองลำเดิน) และทำนองลำทางยาว ส่วนแคนที่เป่าก็จะใช้ลายใหญ่ โบราณ ลายใหญ่ธรรมดา และลายน้อย 2. หมอลำกลอน เป็นหมอลำคู่ คือหมอลำชาย-หญิง ลำโต้ตอบกันในเรื่องต่างๆ บางทีเรียก หมอลำโจทย์-แก้ ปัจจุบันนิยมเฉพาะลำเกี้ยวเท่านั้นโดยที่หมอลำแต่ละฝ่ายจะมีหมอแคนประจำตัวแต่ละคนทำนองของหมอลำกลอน มี 4 ทำนอง คือ ทำนองทางสั้น ทำนองเดิน ทำนองทางยาว และทำนองเต้ย ส่วนแคนใช้ลายสุดสะแนน(สำเนียงขอนแก่น) ลายโป้ซ้าย(สำเนียงอุบลราชธานี) ลายเดิน ลายน้อย และลายใหญ่
หมอลำกลอน เป็นหมอลำคู่ ชาย-ชาย หรือชาย-หญิง ปัจจุบันจะมีเฉพาะคู่ชาย-หญิง เท่านั้น สมัยก่อนจะเน้นในทางแข่งวิชาความรู้กันเป็นหลัก ปัจจุบันนิยมการลำเกี้ยวกันเป็นการสนุกสนานเพลิดเพลิน ต้องใช้ศิลปะสูงยิ่งกว่าหมอลำประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งการฝึกฝนอบรม ความขยันหมั่นเพียร ตลอดจนคุณค่าของบทกลอน
ทำนองลำมีอยู่สองทำนองคือ ทำนองลำทางสั้น กับทำนองลำทางยาว ปัจจุบันมีทำนองลำเต้ยเพิ่มเข้าเป็นตอน ทำนองลำทางสั้นเนื้อเต็มไม่มีเอื้อนมีจังหวะสม่ำเสมอ ทำนองลำทางยาวหรือบางทีเรียกว่า ลำล่อง หรือลำอ่านหนังสือ เป็นทำนองลำแบบเอื้อนเสียงยาวสะอึกสะอื้นแสดงอารมณ์โศก ส่วนลำเต้ยเป็นการลำแบบเนื้อเต็ม มีจังหวะคึกคัก มีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์รักและอ่อนหวาน มักจะแสดงตลอดทั้งคืน ประมาณสามทุ่มจนถึงสว่างทำนองลำเต้ย หมายถึง เพลงสั้นๆ ที่ใช้ลำเกี้ยวกันและมีจังหวะคึกคักมีชีวิตชีวา ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ทำนองคือ เต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา และเต้ยหัวโนนตาล ( ที่มา http://kanchanapisek.or.th)
3. หมอลำหมู่ เป็นหมอลำที่ลำเป็นคณะแสดงเป็นเรื่องอย่างลิเกหรืองิ้ว มีตัวแสดง ได้แก่ พระเอก นางเอก และตัวอื่นๆ ตามท้องเรื่อง เดิมใช้หมอแคน 1 คน เป่าประกอบ ต่อมานิยมเอาเครื่องดนตรีลูกทุ่งเข้าไปใช้ด้วย ทำนองที่ใช้ลำ คือ ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเดิน ทำนองแคน เวลาลำทางยาวใช้ ลายน้อย หรือลายใหญ่ เวลาเต้ย ใช้ ลายสุดสะแนน หรือโป้ซ้าย การแต่งกาย แต่งกายเหมือนเล่นลิเก แต่ผู้หญิงนิยมใส่ชุดยาวอย่างชุดไทย ปัจจุบันหมอลำหมู่ซบเซามาก เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่รายได้ต่อบุคคลต่ำ 4. หมอลำเพลิน คือ หมอลำหมู่ชนิดหนึ่ง แต่จะใช้ทำนองลำเดินเป็นหลักโดยยักเยื้องทำนองให้เป็น 2 จังหวะ คือจังหวะช้าที่เรียกว่า ทำนองเปิดผ้ากั้ง และจังหวะเร็วที่เรียกว่าเดิน และเครื่องดนตรีนอกจากแคนแล้วยังนิยมใช้พิณเข้าประกอบ มีกลองชุดและวงดนตรีลูกทุ่ง การแต่งกาย หญิงนิยมนุ่งกระโปรงสั้น ทำนองแคน นิยมใช้ลายใหญ่ 5. หมอลำผีฟ้า เป็นหมอลำที่ใช้ลำรักษาคนไข้ ลำเป็นคณะใช้แคนเป่าประกอบ หมอลำผีฟ้าส่วนมากจะเป็นหญิง และมีผู้หญิงเป็นหัวหน้า แต่เวลาลำจะต้องนุ่งโสร่งแต่งกายเป็นผู้ชาย หัวหน้าเป็นพี่ใหญ่คนไข้เป็นน้องเล็ก การลำผีฟ้าจะมีหมอแคนที่เรียกว่าหมอม้าเป่าประกอบ เพราะเชื่อว่าเสียงแคนเป็นพาหนะที่จะนำผีฟ้าเดินทางไป หากไม่มีหมอม้าผีฟ้าก็จะไปไหนไม่ได้ โดยลายแคนที่นิยมเป่าคือ ลายใหญ่ และลายน้อยหมอลำผีฟ้าไม่เรียกร้องค่าจ้างรางวัลแต่ไม่ขัดข้องในการรับค่าคายและของฝาก คนไข้ที่ต้องรักษาด้วยหมอลำผีฟ้า คือ คนที่รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย หรือป่วยในลักษณะไม่รุนแรง หรือป่วยแบบไม่เจ็บปวด แต่ไม่กินอาหาร(ที่มา http://vdo.kku.ac.th)



คุณสมบัติหมอลำสื่อพื้นบ้านอย่างหมอลำก็เช่นกัน ทุกเรื่องราวในสังคมอีสาน นับตั้งแต่ตำนาน นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา การเมือง และเรื่องราวต่างๆถูกสื่อผ่านการแสดงลำ โดยผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้ สามารถจดจำคำบอกเล่าและบอกกล่าวเรื่องราวผ่านการขับลำนำ สร้างจังหวะทำนองได้อย่างน่าฟัง ได้ชื่อว่า "หมอลำ" หมอลำแทบทุกคนเติบโตมาจากสังคมชาวไร่ชาวนา หมอลำที่เก่งต้องเคยบวชเรียน รู้สมาสสนธิ มูลบาลี มูลกัจจาย สามารถอ่านและเขียนทั้งบาลี อักษรธรรม อักษรขอมและอักษรไทน้อยในหนังสือผูกอย่างดี มีความรอบรู้ในทุกสาขาวิชา หมอลำยุคแรกจึงเป็นผู้ชายที่มีโอกาสบวชเรียน ผญาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "นักปราชญ์ผู้เพิ่นฮู้ บ่ปานเจ้าแตกลำ" นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่รอบรู้นั้นสู้หมอลำที่มีความสามารถสูงถึงขั้นที่เรียกว่า "ลำแตก" ไม่ได้ หมอลำที่เก่งเข้าขั้นลำแตกต้องรู้รอบ สามารถลำโต้แก้หมอลำอีกฝ่ายได้อย่าง ลื่นไหล ไม่ติดขัด มีปฏิภาณ สามารถด้นกลอนสดได้สละสลวย เข้าใจและเข้าถึงแก่นแกนชีวิตและสภาพสังคมของผู้ฟัง นำศิลปะการร้องและการฟ้อนเข้ามาประกอบได้อย่างดี (ที่มา http://www.ngthai.com)

วิเคราะห์สิ่งที่ได้จากกลอนลำเรื่องประวัติการทำนาของคนอีสานในอดีต
1.ภูมิปัญญาการใช้ภาษา เป็นการใช้ภาษาอีสานที่เป็นแบบดั้งเดิม เช่น
เข่า แปลว่า ข้าว
เบิ่ง แปลว่า ดู
ทุกหย่าง แปลว่า ทุกอย่าง
ปัจจุบันพบว่าวัฒนธรรมการใช้ภาษาอีสานปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก พ่อแม่ชาวอีสานส่วนมากจะไม่สอนถ่ายทอดภาษาอีสานให้กับลูกหลาน ซึ่งจะใช้ภาษากลางในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เด็กอีสานรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก พูดภาษาอีสานไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่องโดยเฉพาะภาษาหมอลำเป็นแบบดั้งเดิม ดังนั้น การได้เรียนรู้กลอนลำจึงเป็นประโยชน์ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จักการใช้ภาษาอีสานมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ภาษาอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการได้ความรู้ที่แฝงอยู่ในลำกลอน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดภูมิความรู้จากคนและเรื่องราวในอดีต นับเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่งผ่านบทลำกลอน
รวมทั้งการเรียนรู้คำกลอนที่คล้องจองกันหรือที่เรียกว่าพหูพจน์ จากกลอนลำเช่น ผ่องพาหวงพาหวานไก่กาสุราเหล้า หรือ นกแขกเต้าคีดคู่อยู่เขาเขียว นับเป็นการใช้ภาษาอย่างสวยงามของหมอลำกลอน และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากครูอาจารย์ในอดีต จนถ่ายทอดออกมาเป็นลำกลอนที่มีคุณภาพในปัจจุบัน

2.การแฝงการสอนสั่งของคนโบราณที่เกี่ยวกับ คะลำของชาวอีสาน
ในลำกลอนมีการการสอนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของข้าวว่ามีมากมาย กินข้าวแล้วทำให้มีเรี่ยวแรง กินแล้วเกิดความรักใคร่สามัคคีกัน ไม่ว่าจะสัตว์โลกประเภทใดก็ชอบกินข้าว โดยเป็นการสอนให้รู้จักบุญคุณของข้าว เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีกฎหรือที่เรียกว่า คะลำ ซึ่งเป็นข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับข้าว เช่นก่อนจะตักข้าวเปลือกในเล้าไปตำให้กล่าวคำว่า กินอย่าให้บก จกอย่าให้ลงเด้อ โดยเวลาจะตักข้าวสารไปหม่าหรือแช่น้ำก่อนึ่ง จะต้องนั่งคุกเข่าให้เรียบร้อย ถ้ายืนโก่งโค้ง คะลำ ข้าวเปลือกหรือข้าวสารหก ห้ามใช้ตีนเขี่ย ข้าวเหลือกินในไร่นาหรือในป่าต้องนำกลับเข้าบ้านทุกเมล็ด กินข้าวเสร็จต้องยกมือไหว้สำรับข้าว ข้าวสารต้องไม่ให้หมดหรือขาดบ้าน ข้าวเหนียวในก่องหรือกระติบข้าวต้องเหลือติดไม่ให้ขาดได้ กินของในถ้วยชามห้ามกินหมดเกลี้ยง เมื่อหมดฤดูกาลทำนาแล้วมีพิธีการสู่ขวัญมิฉะนั้นจะเกิดการ คะลำ เป็นต้น (ประมวล พิมพ์เสน :ฮีต 12คลอง 14 ประเพณีผูกเสี่ยว.2546)

3.ด้านการใช้เครื่องมือเครื่องใช้แบบพื้นบ้าน
เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาปลูกข้าวที่ใช้สืบทอดมาจากอดีตเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาจากพื้นบ้าน โดยการทำขึ้นเอง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและได้ปรากฎอยู่ในกลอนลำ ดังนี้
-แอก คือ ไม้ครอบคอควาย สำหรับผูกเชือกค่าวให้ควายลากไถ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง น้ำหนักเบาหาได้ในท้องถิ่น
- จอบเป็นเครื่องมือมีคมใช้ขุดดิน ถากหญ้า ทำด้วยเหล็ก รูปแบน หน้ากว้าง มีบ้องใส่ด้าม ด้ามยาวประมาณ 100-120 เซนติเมตร เส้นรอบวงประมาณ 13 เซนติเมตร ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง รูปกลม จอบเป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันตลอดปี เมื่อใช้เสร็จต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัย เช่นใต้ถุน เล้าข้าวเป็นต้น
-กระถวยเป็นเครื่องหาบที่หาบทำจากไม้ไผ่ เอาไว้ใส่ข้าว

วิเคราะห์การใช้ภูมิปัญญาจากเครื่องมือเครื่องใช้เปรียบเทียบกับปัจจุบัน
ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือเครื่องใช้จากแบบพื้นบ้านเป็นแบบสมัยใหม่ เช่นการใช้รถไถแทนการใช้ควาย เพราะทำให้ประหยัดเวลา สามารถดัดแปลงให้บรรทุกสิ่งของได้ รถไถนาสามารถไถนาได้มากสุดวันละ 4-6ไร่ ซึ่งแรงงานจากควาย 1ตัวไม่สามารถทำได้เท่าควายเหล็กหรือรถไถ ความนิยมจึงได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้กับควายที่เรียกว่าแอก จึงไม่จำเป็นที่จะใช้ต่อไปในปัจจุบัน ส่วนการใช้กระถวยและจอบยังคงมีใช้อยู่ในการทำนาเพราะเป็นเครื่องมือพื้นฐาน

4.ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ในบทกลอนนี้ได้กล่าวถึงภูมิปัญญาการมัดรวงข้าวด้วยหัวเผือก เป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาใช้ให้เหมาะสมหรือการเสียลาน คือในช่วงที่เกี่ยวข้าวแล้วจะต้องทำข้าวเป็นเป็นกำข้าวตากแดดไว้ที่นา 3วัน จากนั้นมัดหัวข้าวเป็นกองแล้วเอาไว้ที่ลานข้าว เรียกว่าเป็นการเสียลานคือการเลือกที่ดินราบเรียบแล้วเคลือบหน้าดินด้วยขี้วัว จากนั้นเอามัดข้าวมาวางเพื่อตีเอาเม็ดข้าวออกจากกัน พอเอาข้าวขึ้นยุ้งไปแล้วยังเป็นปุ๋ยให้กับดินด้วย นับเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวและเป็นความรู้ให้กับชนรุ่นหลังได้ทราบอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการวางข้าวไว้ที่พื้นคอนกรีตแทนหรือใช้มุ้งตาข่ายเป็นที่รองรับข้าวแทน


5.การเกี่ยวข้องกับประเพณีฮีต 12
ประเพณี ฮีต 12ฮีตแปลว่าจารีต คือสิ่งที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ฮีตปฏิบัติกันเป็นประจำเดือน ครบ12เดือน คือมีประเพณีการจุดบั้งไฟ เพื่อขอน้ำฝน ให้ความอุดมสมบูรณ์ของเกษรกรรม จึงเรียกว่า บุญบั้งไฟซึ่งบุญบั้งไฟเป็นงานสำคัญของชาวอีสานก่อนลงมือทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ในงานจะมีการแห่บั้งไฟ และจุดบั้งไฟเพราะเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถน ให้ส่งน้ำฝนลงมา ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้งอย่างสนุกสนาน การทำบุญบั้งไฟนับเป็นการชุมนุมที่สำคัญของคนในท้องถิ่นที่มาร่วมงานบุญกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ มีการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนในขบวนแห่บั้งไฟ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องหยาบคาย การทำบุญบั้งไฟนี้บางทีจะตรงกับประเพณีบุญวันวิสาขบูชาด้วยซึ่งในกลอนลำได้กล่าวถึงว่าก่อนจะทำนาจะต้องมีการขอฝนโดยการทำพิธีบั้งไฟเสียก่อนนับเป็นความเชื่อและเป็นประเพณีที่สืบทอดจากคนในอดีตซึ่งในปัจจุบันสามารถพบได้ในบางพื้นที่ของภาคอีสาน

6.ความเชื่อด้านวิญญาณ
วิถีชีวิตของชาวอีสานจะมีความเชื่อกับวิญญาณว่าจะสามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีงามได้ และโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำนาเพื่อขอพรให้ได้ผลผลิตที่ดีซึ่งได้ปรากฏจากลำกลอนดังนี้

- ผีตาแฮกเป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดำ และหลังการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทำรั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้ บทกลอนลำจะกล่าวถึงการบวงสรวงตาแฮกก่อนการทำนาด้วยพาหวานที่ประกอบด้วยซึ่งหมายถึง กองเครื่องสังเวยสำรับหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปใช้ข้าวนึ่งคลุกน้ำตาลเป็นหลัก และมีเครื่องประกอบอื่นๆเช่นไข่ หรือกับข้าวอื่นๆตามที่หาได้ นอกจากนี้อาจมีหมากและยาสูบเป็นเครื่องประกอบด้วย รวมทั้งการบวงสรวงด้วยไก่ต้มสุราเหล้า เป็นพิธีกรรมที่ทำโดยมีจ้ำหรือ คนที่ทำหน้าที่เข้าทรง เป็นคนทำพิธีต่างๆนั่นเอง

-ปู่ตา แต่ละหมู่บ้านในภาคอีสานจะนับถือผีประจำบ้านที่เรียกว่า “ ผีปู่ตา ” ผีปู่ตาเป็นผีที่คอยดูแลรักษาป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่จะมากระทำแก่คนในหมู่บ้านทุก ๆ ปี จะมีการเลี้ยงผีปู่ตามักจะเป็นป่าที่มีต้นไม้อายุนับร้อยปี เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่า หากไปตัดไม้หรือยิงนกภายในบริเวณดอนปู่ตา ผีปู่ตาจะโกรธาและบันดาลให้ชีวิตประสบแต่อัปมงคล ในพิธีเลี้ยงผีปู่ตานั้นเฒ่าจ่ำจะเป็นพิธีกรเพราะเฒ่าจ่ำเป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างชาวบ้านกับผีปู่ตา เมื่อวันเลี้ยงผีบ้าน ชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารคาวหวานไปร่วมในพิธีเช่น ข้าวต้ม ไข่ต้ม ไก่ต้ม เหล้าขาว ปั้นข้าว ข้าวดำข้าวแดง กล้วย น้ำอ้อย น้ำตาลในกลอนลำบทนี้ได้กล่าวว่า ก่อนจะทำนาจะต้องมีการเลี้ยงปู่ตาเสียก่อน เพื่อที่ท่านจะได้ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกข้าว
-แถน "แถน" เป็นเทพดั้งเดิมของชนเผ่าไท ผีที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากิน ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะว่าเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง พระยาแถนเป็นผู้สร้าง อิทธิพลของพระยาแถนมีมากมายเหลือเกิน จึงทำให้ผู้คนกลัวมากและเมื่อมีปัญหาอะไรก็รู้ว่าสาเหตุที่จะปัดเป่าได้คือต้องไปขอให้พระยาแถนช่วย เพราะฉะนั้นพิธีที่สำคัญมากต่อการทำมาหากินและการปลูกข้าวของคนไทยหรือคนถิ่นไทยลาว คือ พิธีจุดบั้งไฟ เพื่อส่งสารไปถึงพระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลพิธีกรรมในประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นพิธีที่ไม่สามารถทำขึ้นโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชุมชนทั้งสังคมต้องให้ความร่วมมือ ร่วมใจกันที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในสังคมตัวเองและบทบาทของพิธีกรรมนี้ไม่ใช่ เพียงแต่จะบันดาลให้ฝนตกมาได้ตามความเชื่อของท้องถิ่น แต่มีความหมายอีกมากมายต่อความเป็นอยู่ของชุมชนของสังคมข้าวในสังคมไทย พิธีกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสร้างจริยธรรม คุณธรรมของท้องถิ่นโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ โดยในบทกลอนนี้ได้กล่าวว่าในเดือนหกหรือเดือนมิถุนายน เป็นการเริ่มต้นการทำนา จะต้องมีการขอฝนจากแถนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพราะการทำนาจะต้องมีการใช้น้ำเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นความเชื่อของชาวนาในการขอฝน

-แม่โพสพ "แม่โพสพ" เป็นเทพธิดาแห่งข้าว แม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดในครอบครัวและสิ่งที่มีคุณประโยชน์ทั้งหลายในสังคมไทยนั้น มักจะใช้คำว่าแม่เป็นคำเรียกชื่อไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ แม่ธรณี ฯลฯ การใช้คำว่า "แม่" เรียกข้าวก็คือเป็นการให้การยกย่องมากที่สุด ข้าวมีความสำคัญก็เพราะว่าข้าวเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่มนุษย์ต้องตอบแทนคือมนุษย์ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักเลี้ยงดูข้าวด้วย ข้าวมีขวัญข้าว ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องมีขวัญ ขวัญนั้นสามารถที่จะกระทบกระเทือนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่พึงพอใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้อยู่ดีมีสุข ต้องเอาอกเอาใจขวัญของข้าวโดยในบทกลอนนี้ได้กล่าวถึงการกล่าวเชิญแม่โพสพขึ้นไปสู่เล้าข้าว โดยมีความเชื่อว่านางโพสพเป็นผู้หญิงที่ตกใจง่ายดังนั้นจะทำอะไรจะต้องมีการบอกกล่าวเพื่อไม่ให้นางโกรธ ถ้าเกิดทำให้แม่โพสพพอใจก็จะทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ได้ อีกทั้งการกล่าวถึงประโยชน์ของข้าวที่มีมากมาย คนสัตว์ต่างก็กินข้าวเหมือนกัน การกินข้าวทำให้ครรักใคร่กันมีเรี่ยวแรงในการทำงานสิ่งต่างๆ

-แถน เป็นเทวดาหรือผีฟ้าอยู่บนสวรรค์ มีอำนาจบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ แก่มนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารบนโลกได้ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือแถนมาก ยามทุกข์ร้อนสิ่งใด มักจะบนบานให้แถนช่วยเหลือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา คือ ชาวบ้านเชื่อว่า แถนมีอำนาจสั่ง ให้ฝนตกได้ แต่ละปีจึงมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาแถน เพื่อให้แถนสั่งให้ผู้มีหน้าที่ทำให้ฝนตก เช่น นาค พระพิรุณ ประทานฝนลงมาให้ในกลอนบทนี้ได้กล่าวว่าก่อนที่จะทำนาจะต้องมีการ เลี้ยงแถน เพื่อขอให้เกิดฝนตกถ้าฝนไม่ตกก็จะไม่มีน้ำเพื่อที่จะเอามาทำนาให้เกิดผลผลิตได้ จึงต้องอาศัยแถน ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการสั่งให่ฝนตกได้

7.การกล่าวถึงประโยชน์ของข้าวในบทกลอนได้กล่าวถึงประโยชน์ของข้าวโดยแบ่งตามหัวข้อดังนี้
1.ด้านร่างกาย ข้าวเป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโต อยู่เย็นเป็นสุข จะหาสิ่งใดมาหล่อเลี้ยงร่างกายให้เหมือนข้าวไม่มี ดังกลอนลำที่กล่าวว่า ฟังประโยชน์เข่าดีเหลือล้นหมื่นถือ คนเฮากินสู่มื้อหนึ่งสามเวลา กินกับปลามันมันแซบดีตั๊วเข่า กินแล้วมีแฮงเว้านำกันบ่อมีเบื่อ
2.ด้านจิตใจ ข้าวเป็นสายใยร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ดินฟ้าอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติอื่นๆให้เกิดขึ้น สืบเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง ดังกลอนลำที่กล่าวว่า บ่อว่าหมาว่าม้าเป็ดไก่ทั้งหมด สัตว์อยู่มะคดโลกดินหินก้อน เห็นแต่มันกินเข่าคือกัน


8.การแสดงหมอลำกลอน
-วิธีการแสดง
เป็นการแสดงประเภทศิลปินเดี่ยว มีคนเดียวเวลาไปแสดงจะไปกับหมอแคนหรือแคนประจำตัวส่วนคู่ลำเจ้าภาพจะจัดมาให้ต่างหาก มักจะเป็นชายทั้งคู่หรือชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพ
แต่ไม่ปรากฎว่าเป็นหญิงทั้งสองคน การแต่งกายชายใส่ชุดสุภาพ ผูกเนกไท กางเกงแสล็ก หญิงนุ่งชุดผ้าไหม
-คุณลักษณะ
ลำดี เสียงดี รูปร่างดี มีไหวพริบปฎิญาณ โวหารดี มีความรู้ดี และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กลอลำต้องเป็นกลอนที่มีคุณภาพ ทันสมัยมีเนื้อหาสาระที่มีรสสัมผัสสูง รวมทั้งกลอนเบ็ดเตล็ด กลอนสุภาษิต คติธรรม คำสอน หรือบางครั้งอาจต้องใช้คำกลอนสดอีกด้วย
-ลักษณะและการใช้คำกลอน
เป็นกลอนสุภาพหรือกลอนแปด มีการบังคับสัมผัสนอกสัมผัสใน บังคับวรรณยุกต์ในแต่ละวรรคคือ สลับ-รับ-ร้อง-ส่ง บางครั้งใช้คำผญา คำพังเพยโตงโตย ใช้สร้อยคำคำเสริมและการเอื้อนเสียง เพื่อให้เกิดความไพเราะและเข้ากับจังหวะดนตรีทำให้การร้องรำมีสีสรรค์มากขึ้น

จากประสบการณ์ภูมิปํญญาของหมอลำกลอนผู้แต่งกลอนลำเรื่อง ประวัติการทำนาของคนอีสานในอดีต
จากการสัมภาษณ์หมอลำอุดม ธนูทองพบว่าชีวิตวัยเยาว์เนื่องด้วยเป็นคนชอบสนุกสนาน ชอบหมอลำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้มีโอกาสบวชเณรจากพรสวรรค์ที่มีอยู่เดิจึงทำให้เทศน์หรือแหล่เป็นภาษอีสานอยู่บ่อยๆ ในสมัยนั้นค่าแรงการแสดงต่อคืนได้ค่อนข้างสูงคือ 150 บาทจึงได้รับการแนะนำจากหมอลำที่ได้ไปชมการแสดงให้ไปเรียนหมอลลำกับหลวงปู่วิเศษสารนิติและท่านประจันทะศรีได้ฝึกทำนองลำเป็นเวลานานหลายปี แรงบันดาลใจในการแต่งลำกลอนพบว่าเนื่องด้วยครอบครัวเป็นชาวนาอยู่แล้วจึงได้มีข้อมูลจากประสบการณ์อย่างมากมายในการทำนา ทั้งกระบวนการและความเชื่อที่ได้ปรากฏอยู่ในลำกลอน จากความรู้ที่ได้บ่มเพาะมามากมายทั้ง ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ โหราศาตร์ ภาษาบาลี ไวยากรณ์
สันสกฤษ การได้รับการถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์โดยตรงดังนี้ ล้วนทำให้หมอลำอุดมมีความรู้ความสามารถทางด้านการแสดงและการแต่งลำกลอนอย่างมีประสิทธิภาพ

8. บทบาทหมอลำในปัจจุบัน
บทบาทหมอลำต่อชุมชน หมอลำ เป็นการแสดงศิลปะพื้นเมืองที่มีคุณค่า และมีความสำคัญยิ่งต่อชาวอีสานในอดีต เพราะนอกจากจะเป็นศิลปะที่ให้ความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน สอดแทรกความรู้ ความคิด คติธรรม ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ทำให้คนฟังเกิดความเฉลียวฉลาด และมีส่วนช่วยส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรม รักษาบรรทัดฐานของสังคม ช่วยอนุรักษ์วรรณกรรมและศิลปะพื้นบ้านแล้ว ยังเป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดเห็นของประชาชน เป็นภูมิปัญญาของชุมชนในสมัยที่การศึกษายังไม่เจริญเช่นทุกวันนี้ ถือเป็นการศึกษานอกระบบที่เน้นความประพฤติ สอนให้คนเป็นคนดี และในสมัยหนึ่ง หมอลำยังช่วยเผยแพร่ความรู้ด้านลัทธิการเมือง ชี้แนะให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้ความรู้ต่างๆ เช่น การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การกินที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
ในสภาวะสังคมแบบดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หมอลำ ได้รับการยกย่องว่า เป็น ปราชญ์ของสังคม เพราะเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดภูมิปัญญา ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นควบคู่กับวัด ทั้งนี้ เพราะผู้ที่จะเป็นหมอลำที่ดีได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีความรอบรู้หลายด้านและหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี บาปบุญคุณโทษ ค่านิยมสังคม ข้อธรรมะไปจนถึงนิทานชาดก และข่าวสารการบ้านการเมือง อีกทั้ง ต้องมีปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวทีได้อย่างทันท่วงที
กล่าวได้ว่า หมอลำมีคุณค่าความเป็น Folk Art อยู่ที่ลักษณะเด่น ๓ ประการคือ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เชิงสุนทรียภาพเหมือนศิลปะชั้นสูง มีความใกล้ชิดกับผู้ชม และมีความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินผู้แสดงกับผู้ดู
นับแต่อดีตมา หมอลำได้มีการปรับเปลี่ยนตนเองมาโดยตลอด ยิ่งในกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นยุคโลกไร้พรมแดนอย่างปัจจุบัน หมอลำก็เช่นเดียวการละเล่นหรือการแสดงพื้นบ้านอื่นๆที่กำลังจะตายหรือเสื่อมไปจากความนิยม จึงต้องมีการประยุกต์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ปรับจากหมอลำพื้น หมอลำกลอน มาเป็นหมอลำเพลิน แล้วเป็น ลูกทุ่งหมอลำ คือ เพลงลูกทุ่งที่ผสมผสานระหว่างทำนองเพลงและทำนองลำเข้าด้วยกัน จนมาถึง หมอลำซิ่ง ซึ่งก็คือ หมอลำกลอนแบบใหม่ที่นำเครื่องดนตรีตะวันตก ประเภทวงสตริงเข้ามาผสม ซึ่งหมอลำซิ่งในปัจจุบันก็กำลังเป็นปัญหาที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เนื่องด้วยลีลาและท่าเต้นที่ออกมาไม่ค่อยเหมาะสม อีกทั้งมักจะมีการทะเลาะวิวาทในกลุ่มวัยรุ่นผู้ชม ทำให้หมอลำซิ่งกำลังจะกลายเป็นวิกฤตของการแสดงหมอลำในขณะนี้ นอกจากนี้ก็ยังมี ลูกทุ่งตลกหมอลำ คือ เป็นลูกทุ่งผสมหมอลำอีสาน มีตลกนำ เน้นความบันเทิง และความอลังการของหางเครื่องและการแสดง
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยเฉพาะการปรับให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของสื่อในการนำเสนอ รวมทั้งความนิยมของผู้ชมในปัจจุบัน ก็เป็นเหตุให้โครงสร้างบางอย่างที่เป็นศิลปะพื้นบ้านของหมอลำอาจล่มสลายไปได้ในอนาคต ต่อไปหมอลำอาจเหลือเพียงแต่ชื่อ แต่แก่นหลักอาจเปลี่ยนแปลงไป คุณธรรมจริยธรรมที่เคยสอดแทรกอยู่ในกลอนลำ ก็อาจถูกปรับให้เข้ากับกระแสค่านิยมสมัยใหม่ หมอลำอาจกลายเป็นศิลปะพื้นบ้านที่กลายพันธุ์จนไม่เหลือเค้าเดิม ที่วิกฤติยิ่งกว่านั้น คือ อาจสูญพันธุ์ กลายเป็นตำนานของช่วงหนึ่งแห่งกาลเวลาเหมือนการแสดงอื่นๆ ในผลวิจัยดังกล่าว ได้สรุปและเสนอทางแก้ไว้ว่า การจะรักษาหรือเยียวยาการแสดง “ หมอลำ ” ไม่ใช่เรื่องที่ชาวหมอลำจะทำได้ด้วยตนเอง เพราะหมอลำส่วนใหญ่ยังขาดวิสัยทัศน์ และเอกภาพเนื่องจากการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพ สนับสนุนส่งเสริมให้หมอลำสามารถพัฒนาตนเองให้สื่อกับคนรุ่นใหม่ได้ รวมทั้งต้องสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรักและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนหมอลำ อบรมหมอลำรุ่นใหม่ ตั้งสมาคมหรือสมาพันธ์หมอลำเพื่อส่งเสริมเอกภาพและความเข้มแข็งของหมอลำ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมอลำเพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา (www.culture.go.th)
สรุป
หมอลำกลอนนับว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอีสานที่ไม่ใช่จะอยู่ในฐานะนักแสดงที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ชมในด้านต่างๆ หมอลำกลอนจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการแต่งลำกลอนและแสดงในการด้นสดอีกด้วย ความรู้ที่หมอลำกลอนได้ถ่ายทอดนับเป็นคลังความรู้ที่สำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึง ยกตัวอย่างเช่นสิ่งที่ได้จากกลอนลำเรื่อง ประวัติการทำนาอีสาน ในอดีตทำให้ผู้ฟังได้รู้จักการใช้อุปกรณ์ กระบวนวิธีในการทำนาที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางวิญญาณ อันได้แก่ ผีปู่ตา ผีตาแฮก แถน การทำพิธีผ่านจ้ำ หรือแม่โพสพที่เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นฮีต 12 การทำพิธีขอฝนหรือบุญบั้งไฟ เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเป็นต้น
หมอลำกลอนปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นหมอลำซิ่งเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น อาจมีการสอดแทรกเรื่องราวเช่นหมอลำเรื่องต่อกลอน ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่รักสนุกและด้วยสังคมปัจจุบันคนดูไม่ต้องการที่จะรับรู้เรื่องราวที่เป็นความรู้มากนักหากแต่ชอบการสนุกสนานและเร้าใจ จึงทำให้บทบาทหมอลำกลอนได้ลดน้อยลงไป และด้วยการขาดคนสืบทอดทำให้เป็นที่น่ากลัวว่าหมอลำกลอนและกลอนลำจะจางหายไปจากสังคมอีสานทีละน้อย จึงควรที่ทุกวขาจะช่วยกันในการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาหมอลำกลอนให้คงอยู่กับลูกหลานชาวอีสานสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น: